วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ได้เวลาเปลี่ยนความคิด: เรียนอาชีวะร่วงหรือรุ่งในปัจจุบัน?






                “เรียนอาชีวะจบไปก็ตกงาน”



                ยุคสมัยหนึ่งในสังคมไทย คำกล่าวนี้เป็นถ้อยคำที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งโดยบรรดาผู้ปกครองสู่ลูกหลานผู้อยู่ในวัยเริ่มต้นเลือกเส้นทางชีวิต

                บ้างกล่าวว่าการเลือกสายวิชาชีพมีโอกาสก้าวหน้าในอนาคตจำกัด หางานทำยาก

                บ้างกล่าวว่าสายวิชาชีพเป็นเพียงทางเลือกของคนไม่มีที่ไป ของเด็กมีปัญหา

                เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆเช่นนี้ ก็ถูกปลูกฝังกลายเป็น “ค่านิยม” ไปในที่สุด

                ......


                ทว่า   



                การปล่อยให้ค่านิยมเหล่านั้นคงอยู่ต่อไปถูกต้องแล้วจริงหรือ?



                หากพูดถึงทางเลือกด้านการศึกษาของประเทศไทย อาจสามารถแบ่งออกได้เป็น ประเภทสายสามัญกับสายวิชาชีพ ซึ่งพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเทใจให้กับทางสายแรกเสียมากกว่า 

                ด้วยค่านิยมเก่าแก่ว่า สามารถเลือกเรียนต่อได้มากกว่าและมีปริญญาเป็นใบเบิกทางในอนาคต วุฒิการศึกษาจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการประกอบอาชีพ โดยเมินเฉยต่อสภาพความเป็นจริงในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

                ช่วงหนึ่งที่แรงงานวิชาชีพล้นตลาดเพราะการเลือกศึกษาต่อของเยาวชนจำนวนมากในขณะที่ความต้องการของตลาดงานในสังคมต่ำ อาจทำให้เกิดเป็นภาพจำ “เรียนอาชีวะจบไปก็ตกงาน” ขึ้น ทว่าในขณะเดียวกัน เมื่อวัดจากสถิติที่มีการเผยแพร่ในระยะหลังๆ มานี้ก็ทำให้พบว่า อัตราการตกงานของแรงงานสายสามัญเองก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญโดยไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด  

                ด้วยทิศทางการศึกษาของสังคมโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพราะปัจจัยขององค์ประกอบทางด้านการศึกษาและความต้องการของตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ และแนวทางเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต






สายอาชีพลดฮวบ ไทยขาดแรงงานฝีมือชน

                ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ความต้องการแรงงานของประเทศไทยยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้จะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำในอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยตลอดช่วงปีประมาณ ร้อยละ 0.53 แต่ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ คาดเดาแนวโน้มความต้องการแรงงานในแต่ละปีมีจำนวนดังต่อไปนี้ ปี 2558 จำนวน 37.99 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 38.29 ล้านคน ปี 2560 จำนวน 38.58 ล้านคน ปี 2561 จำนวน 38.81 ล้านคน และปี 2562 จำนวน 38.80 ล้านคน พบการขาดแคลนมากเป็นพิเศษในกลุ่มภาคการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขาดแคลนทั้งจำนวนแรงงานทั่วไปและ “ฝีมือชน”

                ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายวิชาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะระดับ ปวช. แต่ผู้ปกครองกลับต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสายสามัญมากกว่าสายวิชาชีพ (เพื่อหวังให้ลูกได้จบปริญญาตรี) โดยมีสัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายวิชาชีพเท่ากับ 66:34 และอยู่ในระดับนี้มานานนับสิบปี และผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาก็พบว่าสัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้น ในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 มีสัดส่วนแย่ลงเหลือประมาณ 71:29 

                ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ ประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอดอีกมิติหนึ่งคือมิติคุณภาพและการเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งทำให้ผู้ที่จบสายวิชาชีพยังคงว่างงานอยู่อีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากขาดสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการ ทำให้กำลังแรงงานสายวิชาชีพช่างซึ่งมีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งจะน้อยลงไปอีก






เปิดตลาดแรงงานอาเซียน กระตุ้นโอกาสพัฒนาอาชีวะไทย

                ประกาศของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดแรงงานในทุกๆ สาขาอาชีพรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวและมีฐานผลิตร่วมกันเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรวมไปถึงภาคการศึกษาในระดับต่างๆด้วยเช่นกันที่ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสาขาวิชาชีพและพัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขัน ซึ่งทางกระทรวงได้เร่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของประชากรในทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการแข่งขันดังกล่าว

                ล่าสุด ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้หันมาให้ความสำคัญในการยกเครื่องอาชีวศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเตรียมการพัฒนาอาชีวศึกษาแบบครบวงจรให้เป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพจากสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพจากปัจจุบัน 66:34 เป็น 60:40 และ 50:50ในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนในภาคเศรษฐกิจของประเทศ เน้นเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานจริงให้แรงงานจบใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที

                มีการจัดประชุมหารือโดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในประเด็นของการที่จะทำให้เด็กอาชีวะที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สามารถได้คุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพ 7 ระดับพร้อมกันทันที่ที่เรียนจบ โดยมีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ดูแลปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับระดับอาเซียนและสากลด้วยเช่นกัน 

                ซึ่งในอนาคตจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการทำงานในประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน เป็นการขจัดปัญหาดั้งเดิมเรื่องวุฒิการศึกษาของสายวิชาชีพ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนของนักเรียนนักศึกษาสายวิชาชีพมากขึ้นโดยอ้อม





กูรูการศึกษาโลกชี้ ควรปรับวิธีคิด ชูศักดิ์ศรีอาชีวศึกษา

                ศ.ดร.วาสิลิโอส อี เอฟเทอนาคิส นายกสมาคมเวิลด์ไดดัก และสมาคมไดดักต้าแห่งประเทศเยอรมนี กูรูด้านการศึกษาระดับโลก ได้กล่าวถึงประเด็นและทิศทางของการศึกษาในปัจจุบัน ในบทสัมภาษณ์พิเศษของประชาชาติธุรกิจว่า ประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมและการเข้าถึงทางการศึกษา ยังเป็นประเด็นท้าทายของรัฐบาลและนักการศึกษาทั่วโลก ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของการเตรียมนักเรียนให้พร้อม เป็นบุคลากรที่มีความสามารถสำหรับโลกและเศรษฐกิจของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยกระดับความสำคัญของอาชีวศึกษาที่ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของการเพิ่มศักยภาพทางการสอน แต่รวมถึงการสร้างการยอมรับศักดิ์ศรีและบทบาทสู่สายตาสาธารณชน

                "สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียนถือว่ามีปัญหาคล้ายกันในประเด็นของอาชีวศึกษา ทั้งเรื่องการไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควรในสังคม การขาดแคลนครู อาจารย์ที่มีคุณภาพและเครื่องมือการสอนที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเรื่องของกรอบความคิด โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เรียนดีที่มักจะเลือกเรียนสายสามัญมากกว่าที่จะสนใจอาชีวศึกษา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ควรเปลี่ยนแปลงไป"

                อย่างไรก็ตาม ประเทศในอาเซียนต่างตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น การเตรียมความพร้อมที่จะนำเรื่องอาชีวศึกษาให้เป็นหนึ่งในสาระสำคัญ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของประชาคมอาเซียนที่เปิดกว้างของตลาดแรงงาน จึงเกิดความพยายามที่จะทำให้มีการยอมรับสถานภาพของนักศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน



                ทั้งนี้ แม้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยในหมู่ผู้เรียนสายอาชีวศึกษาโดยการเกื้อหนุนของหลายๆ ภาคส่วน ทว่าค่านิยมของสังคมต่อการเรียนสายวิชาชีพคงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้โดยง่าย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการรณรงค์ให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพนั้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครอง ไม่ใช่ที่ตัวเยาวชนเสียเท่าไหร่ ครูแนะแนวจึงต้องเป็นผู้ชี้แจงกับผู้ปกครองให้เข้าใจ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่หลายๆ คนมักจะมองเด็กสายวิชาชีพว่าเก่งแต่เรื่องทะเลาะ ต่อย ตี เนื่องจากการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบันต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง


                อีกทั้งการปลูกฝังค่านิยมแบบผิดๆ ให้เด็กไทยต้องจบปริญญาตรีเท่านั้น เพราะดูดีกว่า เงินเดือนมากกว่า ซึ่งอาจทำให้การพัฒนาอาชีวะเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการรณรงค์ให้สังคมเห็นคุณค่าว่าเรียนอาชีวะแล้วมีจุดมุ่งหมาย สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานการทำที่ดี เพราะอาชีวศึกษาคือกระดูกสันหลังของภาคอุตสาหกรรมในการผลิตคนระดับรากฐานที่มีทักษะฝีมือ

                สถานการณ์อาชีวศึกษาภายในประเทศไทยจะเป็นเช่นไรต่อไป คงต้องติดตามดูความเปลี่ยนแปลงกันต่อไปในระยะยาว เมื่อมีการไหลของตลาดแรงงานอย่างอิสระเต็มรูปแบบในอนาคต...











ที่มาข้อมูล:


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน