วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

Mercy killing: ปลายทางสุดท้ายแด่สุนัขจรจัด





                เมื่อเอ่ยถึง "สุนัขจรจัด" หลายคนคงนึกภาพหมาผอมโซ เนื้อตัวเหม็นสกปรก ชอบคุ้ยขยะหาอาหาร นั่งๆนอนๆอยู่ตามตรอกซอกซอย ตามชุมชนต่างๆ บางคนใช้วิธีเดินห่างๆไม่เฉียดเข้าใกล้เพราะกลัวอันตราย

                ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสุนัขจรจัดก็คือสุนัขบ้านที่เลี้ยงไว้ ซึ่งอาจหลุดออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก หรือเจ้าของจงใจนำมาปล่อยทิ้งทั้งที่ไม่ได้ทำหมัน จึงมีแพร่ประชากรหมาที่ไม่มีใครดูแล






                นอกจากนี้ คนไทยยังมีทัศนคติผิดๆ ที่ปลูกฝังกันมาในกลุ่มคนเลี้ยงสุนัข คือ 'คิดอะไรไม่ออกก็เอามาปล่อยวัด' ส่งผลให้พระต้องแบกรับภาระเลี้ยงสุนัขที่ถูกทอดทิ้งนับร้อยตัว เห่าหอนโหวกเหวก ขับถ่ายเรี่ยราดจนทำให้บรรยากาศที่ควรสงบร่มเย็นกลายเป็นโกลาหลวุ่นวาย

                กรมปศุสัตว์ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน ปี 2559–2563" เพื่อวางแนวทางการจัดระเบียบปัญหาสุนัขจรจัดในเมืองไทย







                โดยให้เหตุผลว่า การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า หรือทำหมัน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุจริงๆ อยู่ที่ผู้เลี้ยงที่ไม่มีจิตสำนึกความรับผิดชอบ จึงควรมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ฝังไมโครชิพ ให้ผู้เลี้ยงเสียภาษี และออกกฎหมายควบคุม เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงปล่อยปะละเลย

                นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ ให้ความเห็นว่า ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับชุมชนในการนำสุนัขเลี้ยง หรือแม้แต่ไล่จับสุนัขจรจัดมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องควบคุมประชากรด้วย บางประเทศเขาใช้วิธีการุณยฆาต หากไม่มีคนมารับไปเลี้ยงเกินเวลาที่กำหนดจะฉีดยาให้ตาย ถือเป็นการกระตุ้นสังคมด้วยว่าถ้าไม่อยากให้หมาตายก็มาเอาไปเลี้ยง






                การุณยฆาต หรือ ปรานีฆาต ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Euthanasia หรือ mercy killing คำว่า Euthanasia เป็นภาษากรีก (Greek) มาจากคำว่า “eu” แปลว่า ดีงาม (good)  และคำว่า “thanatos”  ซึ่งแปลว่า ตาย (death) 

                การทำเมตตาฆาต จึงเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเพื่อจบชีวิตของสัตว์ โดยให้สัตว์หมดความรู้สึกอย่างรวดเร็วและตายโดยปราศจากความเจ็บปวดและทรมาน  เช่น การสูดดมยา หรือใช้การฉีดยาเข้าสู่ร่างกาย ฯลฯ







                ทั้งนี้การทำเมตตาฆาตเกิดได้จากหลายสาเหตุ

1. ป่วยด้วยโรคที่ไม่มีหนทางเยียวยาและต้องได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

2. ป่วยด้วยโรคติดต่อสู่คนที่เป็นอันตรายร้ายแรงสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ 

3. ป่วยด้วยโรคเรื้อรังต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลรักษายาวนาน

4. ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง 

5. เป็นสุนัขที่มีปัญหาพฤติกรรม เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ 

6. เป็นลูกสุนัขที่เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกาย 

7. เป็นสุนัขแก่ที่มีความทุกข์ทรมานจากสภาพร่างกายที่ตัวเองเป็นอยู่ 

8. เป็นสุนัขจรจัด ไม่มีเจ้าของ 

9. เป็นสุนัขที่ใช้ในการทดลอง

                ประเทศที่มีการออกกฎหมายการุณยฆาตแต่ละประเทศนั้นมีกำหนดเวลาและวิธีการทำการุณยฆาตที่ต่างกันออกไป เช่น ประเทศญี่ปุ่นให้เวลา 7 วันหลังจากการจับสุนัขมาได้ ประเทศโรมาเนียให้เวลา 14 วัน และยังมีอีกหลายประเทศที่มีกฎหมายการุณยฆาตสัตว์จรจัดเพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านั้นไปทำร้ายคนในประเทศ





ที่มา: