พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ
พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว
พรบ. คุ้มครองสัตว์ หรือชื่อเต็มๆ
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือว่ามีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557
ที่ผ่านมา
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้
คือ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก
และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครอง
มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์
ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยง
จะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู
การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง
ดังนั้น
เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับพระราชบัญญัติ
ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้
ที่มารูป:
พรบ.คุ้มครองสัตว์ ฉบับเข้าใจง่าย
ช่องโหว่กฎหมาย
ว่าด้วยความเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบ
การให้ความหมายของคำต่างๆในมาตรา 3
ในพระราชบัญญัตินี้ เป็นดังนี้
“การจัดสวัสดิภาพสัตว์”
หมายความว่า
การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี
มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ
“เจ้าของสัตว์”
หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์
และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล
ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์
หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย
ทว่าขอบข่ายของคำว่า “สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ”
ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนนักว่าขอบข่ายแบบไหนคือความเป็นเจ้าของบ้าง
แค่มาอยู่อาศัยในพื้นที่ มีข้าวมีน้ำให้กินถือว่าเป็นเจ้าของแล้วหรือไม่?
ซึ่งถ้าหมายรวมถึงเช่นนั้นหมายความว่าสุนัขที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณเขตของมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาคอยให้ข้าวให้น้ำ
นับเป็น “สัตว์เลี้ยง” ที่นักศึกษา เจ้าหน้าที่และบุคลากรภายในมีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบสุนัขให้ได้รับสวัสดิการแบบสัตว์เลี้ยงตามข้อกฎหมายหรือไม่?
โดยเฉพาะเมื่อสุนัขเหล่านั้นกัด
ทำร้าย ทำอันตรายใดๆ ใครเข้าจนเป็นเหตุให้บาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย
มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับผิดชอบหรือไม่?
เลขาสภาทนายความชี้กฎหมายระบุไม่ชัดเจน
ผู้เชี่ยวชาญแย้งข้อบังคับใช้ไม่น่าเป็นปัญหา
นายนิวัต แก้วล้วน
เลขาธิการสภาทนายความ เผยว่า กฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใดครอบครองและเลี้ยงดู’
ต้องดูว่าเลี้ยงดูเป็นประจำหรือไม่
ถ้าผ่านไปเป็นครั้งคราวแวะให้อาหารก็ยังพอที่จะปฏิเสธได้ แต่ถ้าก่อนไปทำงานเอาข้าวมาให้สุนัขตรงนี้กินทุกวัน
ตอนเย็นก่อนกลับบ้านแวะเอามาให้กินมื้อเย็นอีก แบบนี้ก็จะเข้าหลักลักษณะเลี้ยงดู
“กฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใดครอบครอง’ มันก็ต้องไปตีประเด็นว่าขนาดไหนถือว่าเป็นการครอบครองสัตว์
ไม่ได้ใช้คำว่าเลี้ยงดูเป็นอาจิณ กฎหมายมันยังไม่ชัดเจน ผมเองก็ไม่กล้าฟันธง
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีใครมาให้อาหารเป็นประจำ” เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว
ขณะที่
เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าวว่า
ผู้ที่ให้อาหารสุนัขจรจัดทั้งที่ไม่ใช่เจ้าของ ถือเป็นความมีเมตตา
แต่อย่าไปทำให้ชุมชนเดือดร้อน เลอะเทอะ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนได้
เมื่อสุนัขไปทำร้ายคนอื่น ความผิดจะไม่ได้อยู่กับคนที่ให้อาหาร
“หากการที่คนไปให้อาหารสัตว์และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่สัตว์ได้กระทำกับคนอื่นๆ
นั้น คนก็คงไม่กล้าให้อาหาร เพราะกลัวจะเป็นคนรับผิดชอบ สุนัขตามข้างถนนคงผอมแห้ง
อดตาย ซึ่งคิดว่าประเทศไทยคงไม่มีทางจะปล่อยให้สัตว์เป็นแบบนั้น” นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
กล่าว
ที่มาข้อมูล: