วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข้อสอบ V-NET : เด็กสายอาชีพต้องเจอ!






                หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยหรือแทบไม่รู้จักกับการจัดสอบ  V-NET  วันนี้  We Need to Talk จึงจะพาไปให้รู้ถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการศึกษาสายอาชีพและข้อสงสัยต่างๆ นานา


V-NET คืออะไร?

                V-NET  ย่อมาจาก Vocational National Education Test หมายถึง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ทางด้านอาชีวศึกษา เป็นการทดสอบวัดความรู้มาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ทีจะจบระดับชั้น ปวช.3 V-NET เทียบได้กับการทดสอบ O-NET ของนักเรียนสายสามัญที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือมัธยมปีที่ 6


ความสำคัญของการสอบ V-NET

                การทดสอบ V-NET เป็นการสอบวัดมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ต้นสังกัด และสถานศึกษาในการที่จะทราบมาตรฐานการเรียนการสอนของครูและ นักศึกษา ผลการทดสอบ V-NET สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนของครู อันจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสูงขึ้นได้ รวมทั้งการนำผลการสอบ V-NET ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาด้วย


V-NET สอบวิชาใดบ้าง?

                ตามโครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2545 ปรับปรุง พ.ศ. 2546 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย วิชาสามัญ ไม่น้อยกว่า 26 หน่วยกิต วิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 66 หน่วยกิต และวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 102 หน่วยกิต ฉะนั้นข้อสอบ V-NET จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อสอบวิชาสามัญ (ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และวิชาพละศึกษาและสุขศึกษา) ประมาณ ร้อยละ 20-25 และข้อสอบวิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียน ประมาณร้อยละ 75-80 เปอร์เซ็นต์


สอบ V-NET ใครรับผิดชอบ  

                การ ทดสอบ V-NET ควรเป็นการดำเนินงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ให้ศึกษานิเทศก์ และ ครูที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาร่วมกันออก   ข้อสอบอยู่ภายใต้กรอบและการ ดำเนินการของ สทศ. ส่วนการจัดสอบนั้นดำเนินการผ่านทางเครือข่ายของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา อาชีวศึกษาประจำภาค และอาชีวศึกษาจังหวัด โดยอยู่ภายใต้การจัดการของสทศ.







                จากการสำรวจตามเว็ปไซต์ต่างๆ พบว่ามีเด็กสายอาชีพอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิ์สอบแอดมิชชั่นจากการใช้คะแนน gat/pat หรือ o-net ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง






                ความคิดเห็นหนึ่งจากกระทู้ในเว็ปพันทิปบอกว่า ตนเองเห็นใจรุ่นน้อง ถ้าไม่รู้จักไขว่คว้าด้วยตัวเองก็จะไม่ทราบหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาไทยที่ต้องติดตามตลอดเวลา แม้จะไม่เสียใจที่พลาดการสอบ o-net แต่อยากให้เด็กสายอาชีพจำไว้เป็นบทเรียน

                ต้องยอมรับว่าสายสามัญจะได้เปรียบกว่าเพราะเนื้อหาที่ออกสอบคือเนื้อหาตอนเรียนมัธยมปลาย ซึ่งสายอาชีพอาจจะไม่คุ้นเคย ถึงแม้บางมหาวิทยาลัยจะไม่เปิดรับนักเรียนอาชีวะ แต่การสอบยังเปิดโอกาสให้หากต้องการสมัครสอบ gat/pat หรือ o-net เพื่อแอดมิชชั่น  ซึ่งอาจจะต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมหรือซื้อหนังสือมาอ่านเองเพื่อมีความรู้ในวิชาต่างๆ มากขึ้น เพราะแต่เดิมตามหลักการของสายอาชีพ ไม่ได้เน้นให้ผู้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นหลัก


                สุดท้าย จึงเป็นที่น่าขบคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือที่ให้สายอาชีพที่มีความหลากหลายในหลักสูตรมาสอบวิชาสามัญเท่ากันทั้งที่มีโอกาสน้อยกว่า แต่มีความต้องการจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเหมือนกับเด็กสายสามัญ




วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ติดตามคำสั่งคสช. ควบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชน








                ติดตามกันต่อกับสถานการณ์ความคืบหน้าและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถาบันอาชีวศึกษา ภายหลังการประกาศใช้คำสั่งคสช.ที่ 8/2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินหน้าจัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการรวมสถานศึกษากับผู้บริหารต่างๆ พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์เตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวม







สอศ.ประชุมการบริหารจัดการรวมอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน

                วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เชิญผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน เข้าร่วมประชุมชี้แจงขั้นตอนการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาตามคำสั่งของ คสช. ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี

                พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นับจากนี้จะต้องมีการ Rebranding ภาพของการศึกษาอาชีวะ ทั้งนี้เห็นว่าการควบรวมอาชีวะภาครัฐกับเอกชนร่วมกันจะเกิดผลดีต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่การควบรวมนี้ไม่ได้หมายความว่าอาชีวะเอกชนเป็นของรัฐ เพียงแต่เปลี่ยนหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลจาก สช.เป็น สอศ. เท่านั้น

                ในปีการศึกษา 2559 สอศ.กำหนดสัดส่วนรับนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญอยู่ที่ 42 ต่อ 58 โดย 42% ของอาชีวะทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนในจังหวัดต้องวางแนวทางส่งต่อเด็กร่วมกัน เนื่องจาก พบว่า มีนักเรียน 7% ที่จบ ม.3 แล้วไม่เรียนต่อ แต่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สอศ.จะไปจูงใจให้เด็กกลุ่มนี้มาเรียนสายอาชีพมากขึ้นหลังจากมีการควบรวมอาชีวศึกษาภาครัฐ-เอกชน สอศ.จะมีวิทยาลัยอาชีวะอยู่ในกำกับดูแลทั้งสิ้น 886 แห่ง และมีนักเรียนสิ้น 976,615 คน แบ่งเป็น วิทยาลัยอาชีวะรัฐ จำนวน 425 แห่ง นักศึกษา 674,113 คน และวิทยาลัยอาชีวะเอกชนจำนวน 461 แห่ง นักศึกษา 302,502 คน

                พลเอก ดาว์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยอาชีวะแต่ละที่ควรมีความถนัดเฉพาะทาง ไม่ซ้ำซ้อน แล้วให้เด็กเลือกตามความถนัดของตนเอง อาชีวะทั้งส่วนกลางและในระดับจังหวัดต้องมาระดมสมองร่วมกันเพื่อหาจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละฝ่าย วางแผนการรับนักเรียน นักศึกษาร่วมกัน สร้างความเป็นเลิศแต่ละด้านในสถานศึกษา ไม่ต้องแยกเด็กกันและช่วยกันประคับประคองไม่ให้ต้องปิดตัวลง เพราะเป้าหมายจริง ๆ คือ รัฐต้องการสร้างให้เอกชนมีความเข้มแข็งเพื่อแบ่งเบาภาระในการจัดการเรียนการสอน และเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะฝีมือให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ






มึนอาชีวะเอกชน 59% มี น.ร.ต่ำ 500 คน สอศ.ห่วงทยอยปิดตัว-เล็งว.รัฐรับจำกัด

                นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 461 แห่ง พบว่า มีผู้เรียนทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 287,184 คน ขณะที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐมี 425 แห่ง น้อยกว่าสถานศึกษาเอกชน แต่กลับมีผู้เรียนทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.รวม 670,457คน

                เมื่อจำแนกสถานศึกษาเอกชนตามจำนวนนักเรียน พบว่า 276 แห่ง คิดเป็น 59% ของสถานศึกษาเอกชนทั้งหมด มีผู้เรียนน้อยกว่า 500 คน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขปัญหา เพราะหากปล่อยไว้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนอาจต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมากๆ

                นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า ตนมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปวิเคราะห์ตัวเลขที่เหมาะสม ว่าวิทยาลัยอาชีวะ 1 แห่ง ควรจะต้องมีผู้เรียนขั้นต่ำกี่คนจึงจะอยู่รอด โดยจะไม่ใช้แนวทางการยุบรวมวิทยาลัยที่มีผู้เรียนน้อย แต่จะหาวิธีเพิ่มผู้เรียนในวิทยาลัยที่มีเด็กน้อย โดยแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้คือการจำกัดจำนวนการรับเด็กในวิทยาลัยอาชีวะรัฐ เพื่อเกลี่ยเด็กให้วิทยาลัยเอกชนมากขึ้น การเปิดห้องเรียนสาขา โดยให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ที่มีชื่อเสียง และมีศักยภาพ เปิดห้องเรียนสาขาในวิทยาลัยอาชีวะที่มีผู้เรียนน้อย พัฒนาให้เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง







วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เดินหน้าเต็มกำลัง: สร้างโอกาสพัฒนาฝีมืออาชีวะ







                ข่าวการศึกษา-อาชีวศึกษายังคงเป็นที่น่าติดตามในรอบสัปดาห์นี้ เพราะมีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ลงนามในคำสั่งคสช.ที่ 8/2559 รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) โดยมีผลไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

                นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารจัดการสถานศึกษาอาชีวะภาคเอกชนเกิดความต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการรวมการบริหารจัดการสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น






ชัยพฤกษ์ยัน อาชีวะเอกชนบริหารงานอิสระ เร่งถ่ายโอน งบ-งาน ตั้ง อาชีวศึกษาจังหวัดดูแล สอศ.นัดถกผู้บริหารอาชีวะทั่วปท. 19 ก.พ.

                ความคืบหน้าล่าสุด นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า จากการหารือกับผู้แทนจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชน อาชีวศึกษาภาครัฐและผู้แทนจากสพฐ. เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะคสช. ที่ให้รวมอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนนั้นตนเองบอกที่ประชุมไปว่า เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาไปด้วยกัน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการศธ. ทั้งการสร้างแรงจูงใจ การปรับภาพลักษณ์ผู้เรียน การเดินหน้าสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาเฉพาะทาง และการพัฒนาอาชีวศึกษาสู่สากล

               โดยสถาบันอาชีวะเอกชน จะยังมีความอิสระในการบริหารจัดการ ภายใต้พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนเช่นเดิม ขณะที่สอศ.จะทำหน้าที่เหมือนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)เคยทำ คือส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของอาชีวะเอกชน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งงบประมาณและบุคลากร


                นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายในการเพิ่มยอดผู้เรียนสายอาชีวะกับสายสามัญ เป็น 48:52 นั้น จะมีการหารือถึงแนวทางดำเนินการวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยสอศ.จะมอบหมายให้แต่ละจังหวัดดูแลในเรื่องการรับนักเรียน นักศึกษาภายในจังหวัดให้เหมาะสมต่อไป

ที่มา: “ชัยพฤกษ์”ยัน “อาชีวะเอกชน” บริหารงานอิสระ


                จากข่าวในรอบสัปดาห์ มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาหลายแห่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็น มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยและรอดูความคืบหน้าต่อไป เพราะการปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหันนี้ส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียน นักศึกษาโดยตรง หากทางภาครัฐสามารถทำออกมาได้ดี ตัวเด็กเองก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด







อาชีวะเอกชนเชียงใหม่เห็นด้วย ย้ายสังกัดตามม.44 ชี้เป็นผลดี ไม่กระทบ-ได้ใช้หลักสูตรเดียวกัน

                วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 นายไพบูลย์ วงศ์ยิ้มย่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จ.เชียงใหม่ เผยว่าเห็นด้วยและเป็นผลดีต่ออาชีวศึกษาเอกชน ที่เปิดสอนระดับปวช.และปวส. เนื่องจากใช้หลักสูตรเดียวกัน ไม่มีผลกระทบต่อการเรียนการสอน ส่วนการบริหารจัดการอาชีวะเอกชนยังเป็นเอกเทศ เพียงแต่มาอยู่ในการกำกับดูแลของสอศ.เท่านั้น ไม่มีปัญหาอะไร

                “เชียงใหม่ มีอาชีวศึกษาของรัฐ 8 แห่ง เอกชน อีก 14 แห่ง รวมเป็น 22 แห่ง มีนักศึกษากว่า 30,000 คน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในเชียงใหม่ ได้ประชุมหารือกันมากว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งผู้บริหารอาชีวศึกษาเอกชนพอใจที่ย้ายมาอยู่ในกำกับดูแล สอศ. แทน ทำให้แผนพัฒนาการศึกษาอยู่ในทิศทางเดียวกัน และมาตรฐานการศึกษาเท่าเทียมกัน ผลิตนักศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการแรงงาน เป็นที่ยอมรับของสังคมนายไพบูลย์กล่าว





เอกชนเมืองคอนเตือนใช้ ม.44 ยุบ อาชีวะเร็วเกินระวังล้ม ถามรัฐแน่ใจพร้อมแล้ว

                ดร.ณัฐวุฒิ ภารพบ นายกสมาคมส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยถึงการใช้ ม.44 ยุบ อาชีวะเอกชนขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการว่า เรื่องนี้มีการพูดมานานแล้ว ทางสมาคมฯทุกพื้นที่ก็ทราบเรื่องและมีการเตรียมความพร้อมมานานพอสมควร การที่ให้อาชีวศึกษาเอกชนเข้าไปอยู่การดูแลของอาชีวศึกษาของรัฐจะมีข้อดีมากกว่า เนื่องจากจะได้ปฎิบัติตามนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งงานด้านวิชาการก็จะเพิ่มคุณภาพมากขึ้น นักเรียน นักศึกษาก็จะได้รับ   อานิสงโดยตรงและมีความทัดเทียมกัน

                “ สิ่งที่ห่วงในเวลานี้ก็คือตัวรัฐเองพร้อมรับตามหรือไม่ และหากยังไม่พร้อมรับก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะความไม่พร้อมทั้งผู้รับและผู้ส่งยิ่งจะทำให้เกิดความไม่รู้ ดังนั้นการโอนในวันนี้อย่างรวดเร็วทุกภาคส่วนทันรับหรือไม่

                ส่วนดร.สุวิทยา บริบูรณ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสถาปัตย์นครศรีธรรมราช กล่าวว่าตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่า เป็นอย่างไร จะตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตอบไม่ได้ เพราะอะไรที่มาเร็วก็ไปเร็ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี ต้องดูว่าเป็นไปตามความต้องการเดิมของพวกเราหรือไม่ ไม่ใช่เป็นเพียงว่าโอนอาชีวะเอกชนไปขึ้นกับอาชีวะของรัฐ เป็นเพียงโครงสร้างเท่านั้น แต่รายละเอียดย่อยก็ยังไม่มีความพร้อมก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้อีก


                การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจจะค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างและต้องใช้ระยะเวลาในการรอดูผลลัพธ์ที่จะตามมา 


                แม้อาจจะมีหลายจุดที่ยังต้องหารือและร่วมปรึกษากับอีกหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะความพร้อมของสอศ.ในการเปลี่ยนผ่าน งบประมาณ ไปจนถึงการบริหารจัดการอื่นๆ แต่การรวมอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ก็เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาเพื่อผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือตอบสนองความต้องการของประเทศและขับเคลื่อนหัวใจอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้อย่างดี ช่วยก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือองค์ความรู้ระหว่างกันได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาทในช่วงนี้ลดลงค่อนข้างมาก ถือเป็นการปรับมุมมองและภาพลักษณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไป




วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นโยบายเกื้อหนุน: ปัจจัยสำคัญส่งเสริมอาชีวะ






                ในหัวข้อที่แล้วทีมงาน  We need to talk ได้มีการหยิบยกบทบาทของสื่อมวลชนในการช่วยสร้าง “ค่านิยม” ให้การเรียนอาชีวศึกษากลายเป็นบุคคลชั้นรองในสังคมมานำเสนอกันแล้ว ในสัปดาห์นี้จะกล่าวถึงปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลให้อัตราการเลือกศึกษาต่อในเส้นทางสายอาชีวศึกษาลดลงทุกปีๆ

                ว่าด้วยเรื่องของ “ค่านิยม” คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่สังคมไทยมองนักเรียนนักศึกษาสายอาชีวศึกษา หรือที่เรียกกันว่า “เด็กอาชีวะ” ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองตัดสินใจไม่สนับสนุนส่งเสริมให้บุตรหลานเลือกศึกษาต่อในสายนี้ และปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนเกิดเป็นปัญหาด้านทัศนคติที่ฝังรากลึกยากจะแก้ไขจวบจนถึงปัจจุบัน

                ทว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเยาวชนเหล่านั้นเองเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อในสายวิชาชีพนี้ไม่ได้มีเพียงเหตุผลทาง “ค่านิยม” เพียงอย่างเดียว แต่พบว่า “นโยบาย” ของรัฐเองก็อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาขาดแคลนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาของประเทศไทยค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น






จบปริญญาตรี รับประกันเงินเดือน 15,000

                นโยบายการปรับค่าจ้างให้กับผู้มีวุฒิปริญญาตรีให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 15,000 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ให้กับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีให้สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานและประสิทธิภาพของบุคลากร

                ในขณะเดียวกันจากผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2557/2558 โดยสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยศรีปทุม พบว่า ในส่วนของค่าจ้างขั้นต้น (Base Salary) สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ วุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,485 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับสูง (ปวส.) อยู่ที่ 10,477 บาท ทว่าระดับปริญญาตรีเฉลี่ยอยู่ที่ 14,148 บาท มากกว่ากันราว 4,000 บาท เป็นส่วนต่างที่มากอยู่พอสมควร

                ซึ่ง รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ระบุไว้ในบทความพิเศษ “วิกฤติ! แรงงานขาดแคลน ทำไม เด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง?” โดยไทยรัฐออนไลน์ ว่า ส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เด็กหันมาเรียนสายสามัญ เพื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้นมากขึ้น

                "ค่านิยมก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่า โรงเรียนแต่ละแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ต่างก็มีแนวคิดเก็บนักเรียนเอาไว้ เพราะมันผูกติดรายได้ และงบประมาณ รวมถึงเงินอุดหนุน แม้จะเป็น ร.ร.รัฐก็ตาม ขณะเดียวกัน นโยบายปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท ก็เป็นส่วนหนึ่งในสร้างแรงจูงใจ แต่เด็กไม่ค่อยรู้ว่า หากเรียนจบอาชีวะ ก็สามารถทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท เช่นกัน เพราะมีทั้งค่าโอที และค่าอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจได้อีกด้วย"






นายกสวทอ. ชี้ ส่วนต่าง “สามัญ-อาชีวะ” ยังเพิ่ม เพราะนโยบายยังเป็นแค่ “นโยบาย”

                สัดส่วนของนักเรียนนักศึกษาในสายอาชีวะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มจะเกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงตั้งเป้าในการเพิ่มปริมาณบุคลากรให้เพิ่มสูงขึ้นโดยการใช้นโยบายทั้งเกื้อหนุนและผลักดันต่างๆ

                ในกรณีนี้ รศ.ดร.จอมพงศ์ ระบุไว้ในบทความพิเศษ วิกฤติ! แรงงานขาดแคลน ทำไม เด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง?” โดยไทยรัฐออนไลน์ ต่อว่า สัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะ และสายสามัญ เป็นเรื่องที่ควรผลักดันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากพบว่า แม้จะมีนโยบายออกมาก็ตาม แต่พบปัญหาว่า การดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และของสายอาชีวศึกษา ยังไม่สามารถควบคุมสัดส่วนดังกล่าวได้ จึงเห็นว่า ควรให้ออกเป็นกฎหมายมากกว่า

                "กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเอาจริงในการกำหนดสัดส่วนเข้าอาชีวะ หรือ สายสามัญ ยกตัวอย่างที่ประเทศจีน สิงคโปร์ เขาทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำกัด เช่นเดียวกับที่นั่งของชั้นมัธยมศึกษา และเพิ่มจำนวนที่นั่งจำนวนมากให้อาชีวะแทน"

                อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.จอมพงศ์ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว ต้องการให้พิจารณาเรื่องการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสัดส่วนการเรียนของทั้ง 2 สายอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่แท้จริง เพราะหากเป็นเพียงนโยบายก็จะมีเรื่องของค่านิยมที่จะมุ่งไปเรียน ปริญญาตรีอย่างเดียว




                อย่างไรก็ตาม ยังมีสวัสดิการ นโยบาย และแรงเกื้อหนุนอื่นๆ ที่ส่งผลให้เยาวชนจำนวนมากเลือกศึกษาต่อในสายสามัญมากกว่าสายวิชาชีพ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ทางการศึกษา ทุนและค่าเล่าเรียน หรือโอกาสในการเข้ารับการศึกษาต่อต่างประเทศด้วยโครงการพิเศษทางความสามารถ หรือวุฒิการศึกษาที่ได้เมื่อจบการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังกลับมาให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาในส่วนนี้กันมากขึ้นตามลำดับ ภายหลังการถูกกระตุ้นด้วยแนวโน้มการไหลของตลาดแรงงานหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยสมบูรณ์

                ซึ่งถึงแม้นโยบายการสนับสนุนการศึกษาต่อในสายวิชาชีพจะเพิ่งเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นทีละน้อยอย่างกระจัดกระจาย ทว่าก็เป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตเมื่อมีการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังสถานการณ์การศึกษาต่อในสายวิชาชีพจะเป็นเช่นไรต่อไป







ที่มาข้อมูล:
ไทยรัฐออนไลน์
เดลินิวส์








วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปรับมุมมองด้วยสื่อ ลบทิ้งความคิดเดิมๆเพื่ออนาคต


                จากข่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ เริ่มเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหันมาให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ เพื่อผลิตกำลังคนให้เกิดการพัฒนาในภายภาคหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดคือการสนับสนุนเครื่องมือและปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้การเรียนอาชีวะศึกษาเป็นไปอย่างทัดเทียมกันกับการเรียนสายสามัญ






เดินหน้าเต็มกำลัง ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

               ในการจัดงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและได้พบปะกับคณะทำงานยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

                ซึ่งนายกฯได้รับทราบความคืบหน้าพร้อมทั้งให้ข้อคิดว่าในการวางแผนยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาเรื่องแรงงาน ให้คิดวางแผนตลอดแนวอย่างครบวงจรเช่น ผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการทั้งของประเทศอาเซียนและประชาคมโลกดูอาชีพใหม่ๆ เพื่อสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยการตัดสินใจนั้นให้ตัวเองและประเทศก้าวหน้าโดยสันติสุข มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวหน้าเป็นหัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการและให้เด็กอาชีวะได้ทำงานในประเทศไม่ใช่ไปทำงานต่างประเทศ เพราะมีรายได้สูงกว่า เป็นต้น                  

                ส่วนพล.อ.ดาว์พงษ์ มั่นใจว่าภายใน 1 ปีครึ่งจะเห็นผลงานของคณะทำงานประชารัฐ



                ทั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หลายหน่วยงานเริ่มลงมือเพื่อทำให้การศึกษามีความก้าวหน้าในอนาคต
                ทว่า เรื่องทัศนคติของสังคมสมัยนี้กับเด็กอาชีวะยังคงเป็นภาพลักษณ์ในทางลบเพราะเหตุใด?

                ในส่วนนี้ จะหยิบยกปัญหาค่านิยมของเด็กอาชีวะซึ่งมักเป็นปัญหาแรกที่กล่าวถึงกัน เพราะหลายคนติดภาพว่า เด็กอาชีวะคือเด็กเรียนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถหรือไม่มีเป้าหมายในชีวิต นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ความรุนแรงเช่นเดียวกัน  ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ปลูกฝังความคิดส่งเสริมให้ลูกเรียนสายสามัญมากกว่าและมีความเชื่อว่าการเรียนอาชีวะจะต้องจบออกมาทำงานหนักเป็นลูกจ้างเท่านั้น

                อาจเป็นไปได้ว่าในสมัยก่อนนั้น คนไทยปลูกฝังลูกหลานว่าจบมาให้เป็นเจ้าคนนายคน คนเลยเลือกเรียนปริญญาตรี ซึ่งแต่ก่อนมีคนเรียนจบน้อยและได้ทำงานเป็นข้าราชการกันเสียส่วนใหญ่ ด้วยความเชื่อในรูปแบบเดิมๆ หลายคนจึงอยากให้ลูกหลานได้ในสิ่งที่ดี ความรู้และความเชื่อแบบนี้จึงถูกถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนาน

                ปัจจัยหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ “ การนำเสนอข่าวของสื่อไทย ” ที่พยายามบอกว่าปริญญาตรีเรียนแล้วดี อีกทั้งยังปลูกฝังความคิดเรื่องพวกนี้ลงไปในภาพยนตร์ ละครหรือแม้แต่หนังสือ






                ตัวละครเอกที่มีฐานะดีๆ เรียนอาชีวะช่างกลหรือเปล่าแทบจะไม่มีปรากฏให้เห็นในสื่อไทย ตัวเอกส่วนใหญ่ที่เป็น คนดีมักจะหน้าตาดี รวย และต้องจบปริญญาทั้งนั้น (ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ) ส่วนคนที่เรียนปวช.หรือช่างกลอาชีวะทั้งหลายกลับเป็นตัวร้าย ตัวโกงหรือคนจนในเรื่อง (ที่มักถูกดันให้เป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น)

                สื่อเขียนพล๊อตไม่ต่างจากนี้ซ้ำๆ กันเป็นเวลาหลายๆ สิบปีจนปลูกฝังเป็นภาพจำส่งผลโดยตรงต่อความคิดของผู้คน

                อีกทั้งยังเข้าทางสื่อที่จะขายข่าว โดยการนำข่าวเด็กอาชีวะทะเลาะวิวาทมาเสนอตามที่สังคมเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างมักง่าย สร้างภาพจำเรื่องอุปนิสัยรุนแรงป่าเถื่อนมากขึ้นไปอีก ส่วนข่าวดีๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเด็กสายอาชีวะชนะการแข่งขันหรือเป็นตัวแทนประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียงกลับไม่ถูกให้ความสนใจหรือถ่ายทอดออกมามากเท่าที่ควร

                กลายเป็นว่าสื่อกำลังชี้นำให้สังคมมองเด็กเหล่านี้ผิดไปหรือเปล่า?






                จากการสัมภาษณ์นายบุญสิทธิ์ อยู่ถาวร เด็กอาชีวะวิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์ เล่าว่า หลายคนมองภาพลักษณ์เด็กอาชีวะเเบบนั้นก็เพราะทุกวันนี้ในสื่อต่างๆ ต้องการถ่ายทอดออกมาเพื่อขายข่าว แต่ความจริงแล้วอาชีวะมีค่ายพัฒนาต่างๆ ที่มีประโยชน์และมีกิจกรรมอาสาที่ช่วยเหลือสังคมอยู่มากมายเช่น รับของเสียมาซ่อมให้โดยไม่คิดเงิน มีโรงงานให้เด็กได้ฝึกทำงาน  จนไปถึงการเเข่งขันระหว่างวิทยาลัยในภูมิภาคเพื่อฝึกประดิษฐ์และพัฒนากลไกสิ่งของต่างๆ จากความรู้ที่ได้เรียนมา


                การจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทยที่ออกมานั้น บอกได้ถึงการเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมและแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้น หรือการผลิตผู้เรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้ปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อทำให้อาชีวะมีความเป็นสากลและมีความร่วมมือกับต่างประเทศ

                แท้จริงแล้วอาชีวะไม่ได้สำคัญน้อยกว่าปริญญาตรี ปริญญาโทหรือปริญญาเอก วิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนไปทางไหน ใช้คนแบบไหน วิชาชีพอะไรและสื่อจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการทำให้ผู้คนได้รับรู้ข่าวสารทั้งในด้านดีหรือด้านลบเองก็ตามเพื่อความเป็นไปในสังคม

                 แม้การเปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ที่เคยรับรู้มานั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้เกิดการรับรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้กลุ่มอาชีวะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในภายภาคหน้าก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าจะเริ่มลงมือทำ