ในหัวข้อที่แล้วทีมงาน We
need to talk ได้มีการหยิบยกบทบาทของสื่อมวลชนในการช่วยสร้าง “ค่านิยม”
ให้การเรียนอาชีวศึกษากลายเป็นบุคคลชั้นรองในสังคมมานำเสนอกันแล้ว ในสัปดาห์นี้จะกล่าวถึงปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลให้อัตราการเลือกศึกษาต่อในเส้นทางสายอาชีวศึกษาลดลงทุกปีๆ
ว่าด้วยเรื่องของ “ค่านิยม” คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่สังคมไทยมองนักเรียนนักศึกษาสายอาชีวศึกษา
หรือที่เรียกกันว่า “เด็กอาชีวะ” ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองตัดสินใจไม่สนับสนุนส่งเสริมให้บุตรหลานเลือกศึกษาต่อในสายนี้
และปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนเกิดเป็นปัญหาด้านทัศนคติที่ฝังรากลึกยากจะแก้ไขจวบจนถึงปัจจุบัน
ทว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเยาวชนเหล่านั้นเองเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อในสายวิชาชีพนี้ไม่ได้มีเพียงเหตุผลทาง
“ค่านิยม” เพียงอย่างเดียว แต่พบว่า “นโยบาย” ของรัฐเองก็อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาขาดแคลนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาของประเทศไทยค่อยๆ
เพิ่มสูงขึ้น
จบปริญญาตรี รับประกันเงินเดือน 15,000
นโยบายการปรับค่าจ้างให้กับผู้มีวุฒิปริญญาตรีให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ
15,000 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ให้กับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีให้สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานและประสิทธิภาพของบุคลากร
ในขณะเดียวกันจากผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2557/2558 โดยสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยศรีปทุม พบว่า ในส่วนของค่าจ้างขั้นต้น (Base
Salary) สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์
วุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,485
บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับสูง (ปวส.) อยู่ที่ 10,477
บาท ทว่าระดับปริญญาตรีเฉลี่ยอยู่ที่ 14,148 บาท
มากกว่ากันราว 4,000 บาท เป็นส่วนต่างที่มากอยู่พอสมควร
ซึ่ง รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช
นายกสมาคมเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ระบุไว้ในบทความพิเศษ “วิกฤติ!
แรงงานขาดแคลน ทำไม เด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง?”
โดยไทยรัฐออนไลน์ ว่า ส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เด็กหันมาเรียนสายสามัญ
เพื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้นมากขึ้น
"ค่านิยมก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่า โรงเรียนแต่ละแห่ง
ทั้งรัฐและเอกชน ต่างก็มีแนวคิดเก็บนักเรียนเอาไว้ เพราะมันผูกติดรายได้
และงบประมาณ รวมถึงเงินอุดหนุน แม้จะเป็น ร.ร.รัฐก็ตาม ขณะเดียวกัน นโยบายปริญญาตรี
เงินเดือน 15,000 บาท ก็เป็นส่วนหนึ่งในสร้างแรงจูงใจ
แต่เด็กไม่ค่อยรู้ว่า หากเรียนจบอาชีวะ ก็สามารถทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท เช่นกัน เพราะมีทั้งค่าโอที และค่าอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้
ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจได้อีกด้วย"
นายกสวทอ. ชี้ ส่วนต่าง “สามัญ-อาชีวะ” ยังเพิ่ม เพราะนโยบายยังเป็นแค่ “นโยบาย”
สัดส่วนของนักเรียนนักศึกษาในสายอาชีวะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มจะเกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงตั้งเป้าในการเพิ่มปริมาณบุคลากรให้เพิ่มสูงขึ้นโดยการใช้นโยบายทั้งเกื้อหนุนและผลักดันต่างๆ
ในกรณีนี้ รศ.ดร.จอมพงศ์ ระบุไว้ในบทความพิเศษ
“วิกฤติ! แรงงานขาดแคลน ทำไม
เด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง?” โดยไทยรัฐออนไลน์ ต่อว่า
สัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะ และสายสามัญ เป็นเรื่องที่ควรผลักดันอย่างเป็นธรรม
เนื่องจากพบว่า แม้จะมีนโยบายออกมาก็ตาม แต่พบปัญหาว่า
การดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และของสายอาชีวศึกษา ยังไม่สามารถควบคุมสัดส่วนดังกล่าวได้ จึงเห็นว่า
ควรให้ออกเป็นกฎหมายมากกว่า
"กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ต้องเอาจริงในการกำหนดสัดส่วนเข้าอาชีวะ หรือ สายสามัญ ยกตัวอย่างที่ประเทศจีน
สิงคโปร์ เขาทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำกัด เช่นเดียวกับที่นั่งของชั้นมัธยมศึกษา
และเพิ่มจำนวนที่นั่งจำนวนมากให้อาชีวะแทน"
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.จอมพงศ์ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ
หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว
ต้องการให้พิจารณาเรื่องการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสัดส่วนการเรียนของทั้ง 2
สายอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่แท้จริง
เพราะหากเป็นเพียงนโยบายก็จะมีเรื่องของค่านิยมที่จะมุ่งไปเรียน
ปริญญาตรีอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ยังมีสวัสดิการ
นโยบาย และแรงเกื้อหนุนอื่นๆ ที่ส่งผลให้เยาวชนจำนวนมากเลือกศึกษาต่อในสายสามัญมากกว่าสายวิชาชีพ
ทั้งเรื่องอุปกรณ์ทางการศึกษา ทุนและค่าเล่าเรียน
หรือโอกาสในการเข้ารับการศึกษาต่อต่างประเทศด้วยโครงการพิเศษทางความสามารถ
หรือวุฒิการศึกษาที่ได้เมื่อจบการศึกษา
ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังกลับมาให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาในส่วนนี้กันมากขึ้นตามลำดับ
ภายหลังการถูกกระตุ้นด้วยแนวโน้มการไหลของตลาดแรงงานหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยสมบูรณ์
ซึ่งถึงแม้นโยบายการสนับสนุนการศึกษาต่อในสายวิชาชีพจะเพิ่งเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นทีละน้อยอย่างกระจัดกระจาย
ทว่าก็เป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตเมื่อมีการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังสถานการณ์การศึกษาต่อในสายวิชาชีพจะเป็นเช่นไรต่อไป
ที่มาข้อมูล:
ไทยรัฐออนไลน์
เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น